`เครียด ซึมเศร้า`ผลกระทบต่อการรักษาโรคเบาหวาน

วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2563
image

`เครียด ซึมเศร้า`ผลกระทบต่อการรักษาโรคเบาหวาน
ที่มา : ไทยโพสต์

'เครียด ซึมเศร้า'กระทบใจมีอัตราเสี่ยงโรคแทรกเบาหวาน thaihealth

แฟ้มภาพ

โรคเบาหวานเมื่อป่วยแล้วต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยจึงมีความเสี่ยงเกิดผลกระทบทางใจได้สูงกว่าคนทั่วไป ที่เป็นห่วงก็คือปัญหาความเครียดและซึมเศร้าจะมีผลต่อประสิทธิภาพการรักษาด้วย โดยมีผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้าสูงกว่าคนปกติทั่วไปประมาณ 2 เท่าตัว

นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รักษาการผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขประจำเขตสุขภาพที่ 9 หรือเขตนครชัยบุรินทร์ เปิดเผยว่า รายงานล่าสุดในปี 2560 ทั่วโลกมีผู้ป่วยเบาหวานกว่า 425 ล้านคน โดย 2 ใน 3 อยู่ในวัยแรงงาน สำหรับในส่วนของพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งครอบคลุม 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ในปี 2562 มีรายงานผู้ป่วยเบาหวานขึ้นทะเบียนรักษา 312,797 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและวัยแรงงาน พบผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยเดือนละ 3,100 คน

เมื่อมีปัญหาซึมเศร้าจะทำให้การดูแลตัวเองแย่ลง ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ขณะเดียวกันผู้ป่วยเบาหวานที่มีความเครียดจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ ทำให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนตามมาได้ง่าย เช่น โรคหัวใจ ไตเสื่อม โรคสมองเสื่อม เป็นต้น" นพ.พงศ์เกษมระบุ

ทางด้าน นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการ รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ในการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยเฉพาะรายใหม่ มีข้อแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติ 4 ประการ ดังนี้ 1.ทำความเข้าใจกับโรคให้ดีที่สุด โดยสอบถามอาการและการรักษาจากแพทย์หรือพยาบาลให้เข้าใจ จะทำให้เกิดความมั่นใจ คลายความกลัว ความกังวล และปฏิบัติตามคำแนะนำ 2.เข้าร่วมกิจกรรมที่ รพ.จัดขึ้นร่วมกับเพื่อนผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งจะได้รับความรู้และวิธีการปฏิบัติตัวที่สำคัญ เช่น การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การดูแลจิตใจให้แจ่มใส และได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดีๆ กับผู้ป่วยด้วยกันด้วย 3.หากรู้สึกว่าอารมณ์ตึงเครียด ให้สลายความเครียดด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ฝึกการหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าท้อง นั่งสมาธิ ฝึกการผ่อนคลาย เป็นต้น สามารถขอคำแนะนำได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน และ 4.หมั่นดูอารมณ์ หากรู้สึกว่าอารมณ์ตัวเองเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น หงุดหงิดง่าย เบื่อหน่ายชีวิต จิตใจหดหู่ นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ไม่มีสมาธิทำงานหรือทำกิจวัตรประจำวัน โดยมีอาการติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ ขอให้รีบปรึกษา อสม.หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน หรือโทร.ปรึกษาที่สายด่วนสุขภาพจิตหมายเลข 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ได้รับการดูแลที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที

"ปัญหาโรคเบาหวานขณะนี้ยังพบในผู้ป่วยจิตเวชมากขึ้นด้วย สาเหตุทั้งจากพฤติกรรมของผู้ป่วยเอง เช่น ขาดการออกกำลังกาย และจากผลข้างเคียงของยาบางชนิดที่อาจทำให้เพิ่มความอยากอาหาร จึงเน้นการเฝ้าระวังเรื่องน้ำหนักตัวทุกคนอย่างต่อเนื่อง โดยต่อวันมีผู้ป่วยจิตเวชที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานด้วยเฉลี่ย 19 คน กลุ่มโภชนาการได้จัดเมนูเฉพาะโรค เพื่อใช้อาหารให้เป็นยาด้วย เช่น เมนูคลีน ซึ่งไม่ใช้เครื่องปรุงรส หรือใช้ความหวานอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน และได้นำสมุนไพรหญ้าหวานมาใช้ในเมนูอาหารและเครื่องดื่ม

โรคเบาหวานเมื่อป่วยแล้วต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยจึงมีความเสี่ยงเกิดผลกระทบทางใจได้สูงกว่าคนทั่วไป ที่เป็นห่วงก็คือปัญหาความเครียดและซึมเศร้าจะมีผลต่อประสิทธิภาพการรักษาด้วย โดยมีผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้าสูงกว่าคนปกติทั่วไปประมาณ 2 เท่าตัว เมื่อมีปัญหาซึมเศร้าจะทำให้การดูแลตัวเองแย่ลง ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้

สำหรับครอบครัวที่มีผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรดูแลให้กำลังใจเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว อยู่คนเดียว พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือพาไปพบแพทย์ตามนัด หรือพาไปเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม งานบุญต่างๆ ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุ ควรยกย่องคุณค่าอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีกำลังใจดีก็จะทำให้การดูแลตัวเองดีตามไปด้วย